เมื่อนึกถึงอัตลักษณ์ไทย สองสิ่งแรกที่จะผุดขึ้นมาในห้วงคิดของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ คือ อาหารและผลไม้ไทย และการนวดแผนไทย แต่ในระยะหลังนี้ อัตลักษณ์อีกอย่างที่เป็นกระแสนิยมไปทั่วโลก คือ ศิลปะการต่อสู้ของไทย หรือที่รู้จักกันดีในนามว่า “มวยไทย” ที่ในปัจจุบันเป็นทั้งกีฬาและรูปแบบหนึ่งของการออกกำลังกายด้วย สวิตเซอร์แลนด์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มวยไทยได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ที่แม้ปัจจุบันบุคคลในแวดวงหมัดมวยของไทยในสวิตเซอร์แลนด์จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่มนต์เสน่ห์ของมวยไทยยังได้รับความนิยมอย่างไม่เสื่อมคลาย ซึ่งอาจเป็นเพราะรากฐานของกีฬามวยไทยมีความแข็งแกร่งจากการหยั่งรากลึกมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี โดยผู้มีส่วนสำคัญ คือ “คุณณัฐพงศ์ เลิศปรีชาสกุล” หรือที่รู้จักในนาม Coach Pong ในหมู่นักเรียนมวยไทยต่างชาติ และครูเขี้ยว ในหมู่ชาวไทย เจ้าของค่ายมวย Natthapong Gym ในเขต Oerlikon ใจกลางนครซูริก ที่วันนี้ได้มาบอกเล่าเรื่องราว นับตั้งแต่ยังเป็นนักมวยที่ได้รับเหรียญรางวัลต่าง ๆ ในระดับประเทศ ก้าวเฉียดเวทีโอลิมปิก อันนำมาซึ่งความผิดหวังครั้งสำคัญ ก่อนที่จะพลิกผันกลายมาเป็นผู้บุกเบิกสร้างชื่อเสียงให้กับมวยไทยจนเป็นที่ประจักษ์ในดินแดนนาฬิกาแห่งนี้ นับเป็นการต่อสู้บนสังเวียนชีวิตที่ตื่นเต้นไม่แพ้การต่อสู้ บนเวทีผ้าใบเลยทีเดียว
ก้าวแรกสู่สังเวียน …
“ผมเป็นคนบางจาก กรุงเทพฯ อยู่ในชุมชนสลัม คนจนเยอะ เด็กก็เยอะ จนลุงผมที่อาศัยอยู่แถวนั้นเลยคิดเปิดค่ายมวยข้างถนนขึ้นมา ชื่อ ค่ายศิษย์แสงจันทร์ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และเพราะความจน ทำให้ไม่มีเงินเรียนต่อ ผมเลยต้องออกจากโรงเรียน และได้ลองไปชกมวยตั้งแต่อายุ 12 ขวบ จนเมื่อประมาณปี 2521 ค่ายของลุงปิดตัวลง ก็เลยเอาผมไปฝากที่ค่ายอื่น และก็ย้ายค่ายมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาอยู่กับค่าย ส.ธนิกกุล เมื่ออายุประมาณ 16-17 ปี”
นี่คือการแนะนำตัวสั้น ๆ ถึงความเป็นมาของการก้าวเข้าสู่แวดวงหมัดมวยของณัฐพงศ์ ซึ่งในยามนั้นเป็นที่รู้จักกันดีในนาม “พันธ์ศักดิ์ ส.ธนิกุล” นักชกรุ่นเล็กแบนตัมเวท แห่งค่ายดังอย่าง ส.ธนิกกุล
วิถีชีวิตบนสังเวียน …
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา “พันธ์ศักดิ์ ส.ธนิกุล” ก็ได้ตระเวนบรรเลงแม่ไม้มวยไทยผ่านสังเวียนระดับประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเวทีราชดำเนิน ลุมพินี ช่อง 7 สี ที่เจ้าตัวบอกถึงความสำเร็จอย่างติดตลกว่า “ต่อยมาลุ่ม ๆ ดอน ๆ กว่าร้อยครั้ง แต่ไม่เคยได้แชมป์มวยไทย” จนกระทั่งได้เปลี่ยนสายการชกสู่แวดวงมวยสากลสมัครเล่น ประกอบกับได้มีโอกาสกลับมาเรียนหนังสือในระดับมัธยมศึกษาอีกครั้ง จึงทำให้ได้มีโอกาสได้เข้าสู่การแข่งขันในระดับนักเรียน จนได้แชมป์การกีฬาแห่งประเทศไทย และถูกทาบทามจากสโมสรต่าง ๆ ให้เข้าร่วมสังกัด แต่ท้ายที่สุดแล้วเป็นสโมสรโอสถสภาที่เจ้าตัวตัดสินใจร่วมงานด้วย และถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างชื่อเสียงในฐานะรองแชมป์ประเทศไทย และรองแชมป์คิงส์คัพ มวยสากลสมัครเล่น ในนามทีมชาติไทยในช่วงปี 2529-2530 จนนำมาสู่จุดที่แทบจะเรียกได้ว่าสูงสุดของอาชีพนักมวยสากลสมัครเล่น คือ การมีโอกาสได้รับการคัดตัวเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโซล เกาหลีใต้ แต่ทว่า …

“ตอนอายุ 24 ผมติดทีมนักมวยสากลสมัครเล่น เพื่อไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโซล ปี 2531 เป็นความตั้งใจอย่างที่สุดที่จะไปโอลิมปิก แต่สุดท้ายไม่ผ่านการคัดตัวเป็นตัวแทนทีมชาติไทย ก็เลยตัดสินใจไปเมืองนอกดีกว่า” และเหตุการณ์นี้นำมาสู่จุดพลิกผันครั้งสำคัญในชีวิตของณัฐพงศ์ ที่ต้องละทิ้งนาม “พันธ์ศักดิ์ ส.ธนิกุล” ให้เป็นอดีตไป

ทิ้งความฝันไว้บนสังเวียนผ้าใบไทย …
“ตอนนั้น ใจอยากเป็นทีมชาติชุดใหญ่ แต่ไม่ได้เป็น เลยทำให้คิดว่าอยู่เมืองไทยก็คงเป็นรองนักมวย ในรุ่นเดียวกัน การไม่ได้ไปโอลิมปิกนับเป็นความผิดหวังของผมมาก เพราะผมตั้งใจซ้อมมาตลอด อีกทั้งยังได้รับความหวังจากทุกฝ่ายว่า จะได้ไปโอลิมปิก แต่เมื่อสุดท้ายแล้วสู้คนอื่นไม่ได้ ก็เลยไปเมืองนอกดีกว่า” น้ำเสียงของณัฐพงศ์สะท้อนถึงความผิดหวังในครั้งนั้นเป็นอย่างดี และก็ถือเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญ ที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตนักมวยที่ครั้งหนึ่งเกือบได้มีโอกาสไปโบกธงไทยบนเวทีระดับโลกไปตลอดกาล
กับคำถามที่ว่าทำไมถึงต้องเป็นสวิตเซอร์แลนด์ ณัฐพงศ์ให้เหตุผลว่า “ผมเคยมาตอนอายุ 19 ครั้งหนึ่ง เพราะน้าของผมอาศัยอยู่ที่นี่ ความจริงตั้งใจจะมาอยู่ตั้งแต่ตอนนั้น แต่ขอวีซ่าไม่ผ่าน พอไม่ผ่านการคัดตัวไปโอลิมปิก ก็เลยตัดสินใจย้ายมาอยู่สวิตเซอร์แลนด์ในเดือนมกราคม 2532 ตอนนั้นอายุ 24 และคิดว่าเลิกแล้วแหละกีฬามวย” และการต่อสู้ครั้งใหม่ในอีกรูปแบบกำลังจะเริ่มต้น
สู่จุดเริ่มต้นบนเวทีชีวิต …
“ผมเริ่มจากงานล้างจานในร้านอาหารไทยอยู่ 10 เดือน อะไรที่ไม่เคยได้ทำมาก่อนก็ได้ทำ ไม่ว่าจะเป็น ช่างไฟ ขายของ ดีเจเปิดแผ่นในผับ หรือแม้แต่พนักงานทำความสะอาดบนเครื่องบิน” ถือเป็นการก้าวเข้าสู่โลกใบใหม่ของ “พันธ์ศักดิ์ ส.ธนิกุล” ในอดีต
กับความคิดในการเปิดค่ายมวย ณัฐพงศ์บอกทันทีเลยว่า “ไม่มีความคิดเลย ตอนนั้นยังไม่มีค่าย มวยไทย คนสวิสเองก็ยังไม่รู้จักคำว่ามวยไทย รู้จักแต่คำว่า Thai Boxing” แต่ณัฐพงศ์ได้จับพลัดจับผลูมารู้จักกับ ‘พี่บ็อบ’ คนไทยที่อาศัยอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ที่พอจะมีพื้นฐานการต่อสู้บ้าง แม้ไม่ได้เป็นนักมวยมืออาชีพ และ ณัฐพงศ์ก็อาศัย ‘พี่บ็อบ’ นี่แหละ ในการฟื้นฟูวิชาหมัดมวยอีกครั้ง โดยได้ติดสอยห้อยตามไปยังค่ายสอนศิลปะการป้องกันตัวต่าง ๆ จนทำให้ได้มีโอกาสไปสอนมวยไทย และแสดงศิลปะแม่ไม้มวยไทยตามงานเทศกาลไทยต่าง ๆ
ช่วงเวลานั้นของณัฐพงศ์ต้องเรียกได้ว่า multi-task เพราะต้องทำทั้งงานประจำ ควบคู่ไปกับการรับสอนมวยไทยตามสถานที่ต่าง ๆ จนเคยถึงจุดที่ว่า เป็นดีเจเปิดแผ่นห้าทุ่มถึงหกโมงเช้า พอมาช่วงเช้าก็สอนมวยต่อเลย ต่อมา ชีวิตที่พลิกผันไปเรื่อยก็สิ้นสุดลง
ก่อร่างสร้างสังเวียนมวยไทยในสวิตเซอร์แลนด์ …
“ตอนปี 2543 มีชาวสวิสชวนไปหุ้นเช่าพื้นที่ทำค่ายมวยไทย โดยหุ้นส่วนสวิสเปิดสอนอาคิโด kick boxing และยูโด ส่วนเราก็ไปสอนมวยไทย จ่ายค่าเช่าที่ 600 ฟรังก์สวิส ผมก็เสี่ยงดวงเปิดสอนแบบไม่รู้ว่าจะมีลูกศิษย์หรือเปล่า ปรากฏว่า ผ่านไปสามปี ลูกศิษย์เป็นร้อย” นับเป็นจุดเริ่มต้นของค่ายมวยที่รู้จักกันดีในหมู่ ผู้นิยมมวยไทยในสวิตเซอร์แลนด์ ว่า Natthapong Gym

ต้องถือว่าโชคดีที่ณัฐพงศ์มีต้นทุนพอสมควร จากการตระเวนชกมวยไทยสาธิตตามงานต่าง ๆ ทำให้ ค่ายมวย Natthapong Gym มีผู้สนใจสมัครเป็นลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมาก แต่กับสถานการณ์มวยไทยในสวิตเซอร์แลนด์ช่วงเวลานั้น ณัฐพงศ์บอกว่า “คนสวิสยังไม่รู้จักมวยไทยมากนัก ทั้งกติกา วิธีการชกที่ถูกต้อง รวมไปถึงการไหว้ครู ที่นี่เขาออกแนว kick boxing มากกว่า เตะต่อยตีเข่าได้ทุกอย่างแต่ห้ามใช้ศอก”
แต่ณัฐพงศ์ก็ไม่ลดละความตั้งใจในการถ่ายทอดพื้นฐานมวยไทย เริ่มตั้งแต่การไหว้ครูเลยทีเดียว “ผมพกเทปคาสเซตม้วนนึง ก่อนจะขึ้นชกโชว์ทุกครั้งก็ต้องเปิดเทปม้วนนี้ก่อน เขาไม่รู้หรอกว่าให้เปิดอะไร แต่ผมให้ความสำคัญกับการไหว้ครูก่อนทุกครั้ง”
ต่อมา มวยไทยก็เริ่มเป็นที่รู้จักและมีความแพร่หลายมากขึ้นในหมู่ผู้ชื่นชอบศิลปะการต่อสู้ ไม่เฉพาะแต่ในสวิตเซอร์แลนด์ แต่รวมถึงประเทศใกล้เคียงอย่างเยอรมนีหรืออิตาลีด้วย ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะณัฐพงศ์ได้มีโอกาสไปสร้างชื่อชกชิงแชมป์รายการมวยไทยต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคยุโรป
กลับมาที่กิจการค่ายมวยไทย ณัฐพงศ์สอนอยู่ค่ายมวยไทยแห่งแรกที่หุ้นกับชาวสวิส จนกระทั่งปี 2546 เมื่อโดนเวนคืนที่ไป ก็ถึงเวลาที่ณัฐพงศ์ตัดสินใจเริ่มบินเดี่ยว
(จบตอนที่ 1 โปรดติดตามตอนต่อไป … คลิกที่นี่)
**************
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย
เอกภัทร เปรมโยธิน
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น
เรื่องอื่น ๆ จากเรื่องเล่าจากคนไทยในสวิตฯ | More from Thai Stories in Switzerland
อ่านเรื่องอื่น ๆ | Read more
1 thought on “ชีวิตบนสังเวียนผ้าใบ … ในสวิตเซอร์แลนด์ ของณัฐพงศ์ เลิศปรีชาสกุล (ตอนที่ 1)”